Major, John (1943-)

เซอร์ จอห์น เมเจอร์ (๒๔๘๕-)

​​     ​​เซอร์จอห์น เมเจอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษสังกัดพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๗ เขารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากบารอนเนสมาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* สตรีเหล็กแห่งพรรคอนุรักษนิยมที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ เธอเลือกที่จะสนับสนุนเมเจอร์หลังจากถูกสมาชิกบางคนท้าทายและกดดันให้ออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค บุคลิกและการดำเนินนโยบายของเมเจอร์ที่นุ่มนวลกว่าแทตเชอร์ทำให้เขาสามารถประคับประคองพรรคอนุรักษนิยมให้บริหารประเทศต่อไปได้อีก ๖ ปีเศษก่อนที่จะพ่ายแพ้แก่พรรคแรงงาน (Labour Party)* อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ อันเป็นการยุติสมัยบริหารของพรรคอนุรักษนิยมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง ๑๘ ปี
     เมเจอร์เกิดที่โรงพยาบาลเซนต์เฮเลียร์ (St. Helier) คาร์แชลตัน (Carshalton) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๓

ได้รับการตั้งชื่อว่า จอห์น รอย เมเจอร์ (John Roy Major) แต่ในสูติบัตรระบุเพียงชื่อจอห์นเมเจอร์เขาใช้ชื่อกลางจนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เมเจอร์เป็นบุตรคนสุดท้องใน จำนวน ๔ คน ของเอบราแฮม ทอมัสบอลล์ (Abraham Thomas Ball) อดีตนักแสดงกายกรรมผาดโผนซึ่งใช้ชื่อในการแสดงว่า เมเจอร์และมีอายุ ๖๖ ปีเมื่อจอห์นเมเจอร์เกิดมารดาชื่อเกวนโดลิน (Gwendolyn) แม้ จะเกิดในถิ่นพำนักของชนชั้นกลาง แต่เมื่อธุรกิจขายของ ตกแต่งสวนของบิดาล้มเหลว ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เมเจอร์ ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่ บริกซ์ทัน (Brixton) ชานกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นเขตที่ อยู่อาศัยของผู้ใช้แรงงานหลายเชื้อชาติและ เป็นย่านเสื่อมโทรมจนมีผู้เรียกว่า เขตบรองซ์ใต้แห่งกรุงลอนดอน (South Bronx of London) เพราะไปเปรียบกับเขตบรองซ์ของนครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา เขาเข้าเรียนชั้นประถมที่ชีมคอมมอน (Cheam Common) และศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมรัตลิช (Rutlish Grammar School) ในเขตเมอร์ทัน (Merton) จนจบเกรด ๑๑ เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ เมเจอร์ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว จึงสอบผ่านโอเลฟเวล (O-level) เพียง ๓ วิชา คือ ประวัติศาสตร์ภาษาอังกฤษ และวรรณกรรมอังกฤษ แต่ภายหลังก็สอบผ่านได้อีก ๓ วิชาเมื่อเขาใช้วิธีเรียนทางไปรษณีย์ คือ การปกครองอังกฤษ คณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
     หลังจากถูกปฏิเสธในการสมัครเข้าเป็นพนักงานขับรถประจำทาง ซึ่งบ้างว่าคงเพราะรูปร่างของเขาสูงเกินไป เมเจอร์ก็เริ่มทำงานครั้งแรกเป็นเสมียนในห้างแพรตแอนด์ซันส์ (Pratt & Sons) ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้ารับประกัน เมื่อรู้สึกว่าไม่ถูกอัธยาศัยและต้องการหางานที่จะได้เงินมากขึ้น เขาจึงออกไปเป็นคนงานก่อสร้าง แต่ไม่นานก็ถูกปลดออกและต้องอาศัยเงินสงเคราะห์ของรัฐอยู่ถึง ๘ เดือนเศษ ในช่วงเวลานี้ทำให้เมเจอร์ตระหนักเป็นอย่างดีถึงระบบดูแลช่วยเหลือของรัฐตามแนวสังคมนิยม (socialistic paternalism) ว่าไม่สามารถแก้ไขความยากไร้ได้ เขาจึงสนใจแนวนโยบายของพรรคอนุรักษนิยมและสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มหนุ่มสาวของพรรคอนุรักษนิยมประจำเขตบริกซ์ทันด้วย
     หลังจากช่วยงานในธุรกิจขายเครื่องประดับสวนของเทอร์รี เมเจอร์ บอลล์ (Terry Major Ball) ผู้เป็นพี่ชายอยู่ระยะหนึ่งใน ค.ศ.๑๙๖๓ เมเจอร์ก็ได้ งานที่องค์การไฟฟ้าแห่งกรุงลอนดอน ในช่วงนี้เขาตัดสินใจเรียนวิชาการธนาคารทางไปรษณีย์ด้วย ซึ่งทำให้เขามีคุณสมบัติในการเข้าทำงานที่ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ (Standard Chartered Bank) ในเดือน พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๕ สองปีต่อมา ธนาคารได้ส่งเขาไปประเทศไนจีเรีย ณ ที่นั้นเมเจอร์เกือบเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ เขาได้เข้าไปทำงานบริการสาธารณะชุมชน และมีความรู้สึกชิงชังคตินิยมเชื้อชาติ (racism) เมื่อกลับไปกรุงลอนดอน เมเจอร์ก็ก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็วจนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยประธานธนาคาร
     ความสนใจการเมืองตั้งแต่วัยรุ่น และการชักชวนจากดีเรก สโตน (Derek Stone) เพื่อนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษนิยม ทำให้เมเจอร์เริ่มการปราศรัยในที่สาธารณะย่านตลาดของบริกซ์ตัน ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ ขณะอายุ ๒๑ ปีเมเจอร์ก็ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นเป็นสมาชิกสภาเขตแลมเบท (Lambeth Borough Council) และใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เป็นรองประธาน กรรมาธิการด้านการเคหะของสภาเขต โดยรับผิดชอบการก่อสร้างบ้านการเคหะหลายแห่งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๓-๑๙๖๘ เมเจอร์มีจีน คีรันส์ (Jean Kierans) สตรีที่ผ่านการหย่าร้างแล้วและมีอายุมากกว่าเขา ๑๓ ปีเป็นทั้งคู่รักและพี่เลี้ยงทางด้านการเมือง แอนโทนี เซลดัน (Anthony Seldon) ผู้เขียนชีวประวัติของเมเจอร์ในเวลาต่อมากล่าวว่า เธอช่วยเมเจอร์ในการปรับปรุงบุคลิกภาพให้สง่า และทำให้เขามีความมุ่งมั่นในชีวิตและในการเมืองมากขึ้นต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เมเจอร์ได้พบกับนอร์มา เอลิซาเบท จอห์นสัน (Norma Elizabeth Johnson) ในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตกรุงลอนดอนและหลังจากนั้น ๑๐ วันก็ประกาศการหมั้นและสมรสกันในปีนั้น ซึ่งเมเจอร์กล่าวภายหลังว่าเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของเขา นอร์มาเป็นครูสอนคหกรรมศาสตร์ซึ่งมีบุคลิกเงียบ ๆ และชอบโอเปรา แม้จะเป็นสมาชิกกลุ่มหนุ่มสาวของพรรคอนุรักษนิยมเช่นกัน แต่เธอไม่ได้สนใจการเมืองนัก ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ เจมส์ (James) และเอลิซาเบท (Elizabeth)
     ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มีการเลือกตั้งทั่วไป ๒ ครั้งเมเจอร์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญในเขตเซนต์พังครัสนอร์ท (St. Pancras North) ซึ่งเป็นเขตของพรรคแรงงาน แม้จะพลาดหวัง แต่ ๒ ปีต่อมา เขาก็คงได้รับคัดเลือกจากพรรคให้เป็นผู้สมัครของพรรคอนุรักษนิยมอีกในเขตฮันทิงดันเชียร์ (Huntingdonshire) ซึ่งเป็นเขตภาคกลางค่อนไปทางตะวันออกของ ประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า และมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ.๑๙๗๙ ซึ่งเป็นครั้งที่มาร์กาเรตแทตเชอร์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมเจอร์เป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตฮันทิงดัน (Huntingdon) หลายสมัยคือใน ค.ศ. ๑๙๘๓, ๑๙๘๗, ๑๙๙๒ และ ๑๙๙๗ แต่ใน ค.ศ. ๒๐๐๑ เขาปฏิเสธที่จะลงสมัครอีก
     หลังจากได้รับเลือกเข้าสภาสามัญ เมเจอร์ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี (Parliamentary Private Secretary) ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ ผู้ช่วยวิป (Assistant Whip) ของพรรครัฐบาลใน ค.ศ. ๑๙๘๓ และเป็นวิปในปีต่อมาซึ่งเปิดโอกาสให้เขารับรู้ความสนใจของสมาชิกสภาแถวหลัง (back bencher) ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประกันสังคม และเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงนี้ในปีต่อมา ซึ่งเขาแสดงความห่วงใยในผู้สูงอายุเป็นสำคัญ ปีต่อมาหลังจากนั้นจึงเริ่มต้นรับตำแหน่งที่ได้เข้านั่งในคณะรัฐมนตรี กล่าวคือใน ค.ศ. ๑๙๘๗ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (Chief Secretary to the Treasury) เมเจอร์เข้มงวดในการตรวจสอบการใช้จ่ายของรัฐบาล เพราะถือว่าการใช้ เงินเพื่อการสาธารณะต้องรัดกุม และประชาชนควรตระหนักด้วยว่า แม้วันนี้จะมีแยม (ทาขนมปัง) พรุ่งนี้อาจจะไม่มีเงินซื้อเนยก็เป็นได้ ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ แทตเชอร์ซึ่งประทับใจเมเจอร์ตั้งแต่เขากล้าถกเถียงนโยบายเศรษฐกิจกับเธอสมัยที่เป็นวิป ก็แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนเซอร์ เจฟฟรีย์ ฮาว (Geoffrey Howe) ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากประหลาดใจ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองถึงกับเอ่ยว่าน่าแปลกใจที่คนหนุ่มและอ่อนประสบการณ์อย่างเมเจอร์ได้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล บางคนว่าเป็นเพราะแทตเชอร์ต้องการย้ายเซอร์เจฟฟรีย์ ฮาวไปตำแหน่งอื่นที่ไม่โดดเด่น คือผู้นำในสภาสามัญและรองนายกรัฐมนตรี ในที่สุด คนทั้งหลายก็สรุปกันว่าการแต่งตั้งนี้แสดงว่าแทตเชอร์ไว้วางใจเมเจอร์มาก แต่ในช่วงการดำรงตำแหน่งนี้ เมเจอร์ก็ไม่ได้สร้างผลงานและไม่ชอบงานในความรับผิดชอบเท่าใดนัก ขณะที่บรรดาข้าราชการกระทรวง โดยเฉพาะพวกหัวเก่าและนักการทูตก็ไม่ประทับใจกับการมีบุคลิกไม่ถือตัวและไม่เป็นทางการของเมเจอร์นัก
     อีก ๓ เดือนต่อมา มีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เมเจอร์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะนีเกล ลอว์สัน (Nigel Lawson) ซึ่งมีความคิดเห็นขัดแย้งกับแทตเชอร์มากโดยเฉพาะเกี่ยวกับการตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union - EMU) ของประชาคมยุโรป (European Community)* ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนและทำให้สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันลาออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ภูมิหลังและตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทำให้เมเจอร์เหมาะสมกับตำแหน่งนี้มากกว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นอร์มาภรรยาของเขาก็กล่าวว่าสามีต้องการตำแหน่งนี้มาโดยตลอด ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๙๐ เมเจอร์ก็ผ่านการทดสอบใหญ่ครั้งแรกในตำแหน่งด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ๑๙๙๑ ซึ่งมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก เขาเสนอว่าเป็นร่างงบประมาณที่ต้องการกระตุ้นหรือจูงใจการออมทรัพย์ของประชาชน ความสำเร็จของเมเจอร์ไม่ได้อยู่ที่สาระหรือเนื้อหาที่เขานำเสนอแต่อยู่ที่บุคลิก การแสดงออกอย่างมั่นใจ และความชัดเจนในการนำเสนอต่อหน้าผู้ชมโทรทัศน์จำนวนมหาศาล ความสำเร็จของเขาครั้งนี้ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้นด้วย ต่อมา มีการออกพระราชบัญญัติการออมทรัพย์พิเศษที่ยกเว้นภาษีหรือเทสซา (Tax Exempt Special Savings Act - TESSA) ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนมาก ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนี้ เมเจอร์มีนโยบายต่อต้านเงินเฟ้อและต้องการรักษาระเบียบวินัยในการใช้เงินคงคลังให้มากที่สุด เขายังจัดทำสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเงินหลายพันล้านปอนด์ไปดำเนินกิจการต่าง ๆ นอกจากนี้ เมเจอร์ซึ่งเห็นว่าอังกฤษมีพันธะที่จะต้องร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนในยุโรปยังสามารถโน้มน้าวแทตเชอร์ซึ่งมีท่าทีหวั่นเกรงว่าการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินของประชาคมยุโรปจะกระทบต่ออธิปไตยของอังกฤษ ให้นำอังกฤษเข้าร่วมในกลไกอัตราแลกเปลี่ยนหรืออีอาร์เอ็ม (Exchange Rate Mechanism - ERM) ของประชาคมยุโรปได้สำเร็จใน เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ อีอาร์เอ็มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งระบบการเงินยุโรป (European Monetary System - EMS) เพื่อกำหนดขอบเขตความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่าง ๆ ของสมาชิกประชาคมโดยกำหนดระดับเพดานการเปลี่ยนแปลงขึ้นลง
     ในปลายปีนั้น เมื่อมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในรอบที่ ๒ กับไมเคิล เฮเซิลไทน์ (Michael Heseltine) อดีตรัฐมนตรี เมเจอร์ซึ่งเป็นฝ่ายแทตเชอร์ก็เสนอตัวลงสมัครเข้าแข่งขันพร้อมกับดักลาส เฮิร์ด (Douglas Hurd) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทตเชอร์สนับสนุนเมเจอร์ แม้ในรอบแรกเขาจะได้คะแนนสูงแต่ก็ยังไม่พอที่จะชนะเด็ดขาด แต่เฮเซิลไทน์และเฮิร์ดก็ขอสละการเข้าแข่งขันในรอบที่ ๒ เมเจอร์จึงได้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ (Elizabeth II ค.ศ. ๑๙๕๒-)* ในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวัย ๔๗ ปี ซึ่งในครั้งนั้นผู้คนคิดว่าเมเจอร์คงจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ แต่ต่อมาสถิตินี้ก็ถูกลบล้างโดยโทนี แบลร์ (Tony Blair)*วัย ๔๔ ปี ซึ่งนำพรรคแรงงานชนะเมเจอร์ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๗
     เมื่อรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมเจอร์เรียกร้องความสามัคคีในหมู่สมาชิกของพรรค และเริ่มดำเนินการทันทีด้วยการแต่งตั้งคู่แข่งของเขาทั้ง ๒ คนเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีด้วย โดยให้เฮเซิลไทน์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ส่วนเฮิร์ดคงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป การมีบุคลิกเงียบ ๆ ถ่อมตน ไม่ถือตัว ไม่ต้องการสร้างจุดสนใจ และประนี ประนอมมากกว่าแทตเชอร์ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามและเพื่อนร่วมพรรคยอมรับเมเจอร์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เขาผ่อนผันการใช้นโยบายการเก็บภาษีรายหัว (poll tax) ที่เก็บจากคนที่ทำงานทุกคนเท่ากันซึ่งเคยทำให้แทตเชอร์ถูกประชาชนคัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรง ในด้านการต่างประเทศนั้น เมเจอร์ก็ปรับลดท่าทีแข็งกร้าวของอังกฤษต่อประชาคมยุโรปที่กำลังพยายามเพิ่มระดับการบูรณาการในหมู่ประเทศสมาชิก ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ เมเจอร์ได้นำอังกฤษเข้าร่วมในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ครั้งที่ ๑ ซึ่งดำเนินไประยะสั้น ๆ และประสบความสำเร็จทั้งนี้เนื่องมาจากอิรักบุกเข้ายึดครองคูเวต สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรจึงร่วมกันลงโทษโจมตีอิรัก หลังจากนั้นรัฐบาลของเมเจอร์ก็สามารถโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) จัดตั้งเขตห้ามบิน (no-fly zone) ในอิรักเพื่อคุ้มครองชาวเคิร์ด (Kurd) และชาว มุสลิมนิกายชีอะห์จากการทำลายล้างของรัฐบาลซัดดาม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ผู้นำอิรัก ในปีต่อมา มีการเลือกตั้งทั่วไป ผู้คนคาดว่าพรรคอนุรักษนิยมคงจะพ่ายแพ้พรรคแรงงานที่มีนีล คินน็อก (Neil Kinnock) เป็นผู้นำ เพราะเศรษฐกิจถดถอยนับตั้งแต่ปลายสมัยของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ แต่การที่เมเจอร์หาเสียงโดยเดินทางไปยืนปราศรัยอย่างไม่เป็นทางการตามท้องถนนหลายครั้งเหมือนสมัยเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตแลมเบท ประชาชนก็รู้สึกเหมือนกับว่าพรรคอนุรักษนิยมมีความใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขณะที่การหาเสียงของพรรคแรงงานดูเหินห่าง ไม่จริงใจนัก พรรค อนุรักษนิยมจึงชนะการเลือกตั้งอย่างผิดคาด เมเจอร์จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่พรรคมีเสียงข้างมากในสภาเกินอยู่เพียง ๒๑ เสียงเท่านั้น
     เพียง ๕ เดือนหลังจากการเลือกตั้ง เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินอันเนื่องมาจากมีการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ รัฐบาลต้องสูญเงินหลายพันล้านปอนด์ไป อย่างไร้ผลกับการพยุงค่าเงิน เมเจอร์จำต้องตัดสินใจนำอังกฤษออกจากกลไกอัตราแลกเปลี่ยนหรืออีอาร์เอ็มในวันพุธที่ ๑๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ซึ่งเรียกกันว่าวันพุธสีดำ (Black Wednesday) เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายให้แก่ทั้งเมเจอร์และนอร์มัน ลามอนต์ (Norman Lamont) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจนเกือบทำให้เมเจอร์คิดลาออกจากตำแหน่ง ทั้งมีเสียงเรียกร้องให้นอร์มันลาออก แต่เมเจอร์ก็ไม่เปลี่ยนคณะผู้บริหารทางด้านเศรษฐกิจจนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไป ๗ เดือน จึงมีการตั้งเคนเนท คลาร์ก (Kenneth Clarke) แทนลามอนต์ ความล่าช้าของเมเจอร์สะท้อนความไม่ เด็ดขาด ความไม่กล้าตัดสินใจซึ่งได้กัดกร่อนสถานะความเป็นผู้นำรัฐบาลของเขาลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ รัฐบาลของเมเจอร์ก็สามารถทำให้อังกฤษให้สัตยาบันสนธิสัญญามาสตริกต์ (Treaty of Maastricht)* ได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงคัดค้านจากสมาชิกพรรคที่ต่อต้านการเข้าร่วมสหภาพยุโรปหรือกลุ่มยูโรสเคปติก (Eurosceptic) ซึ่งเป็นหอกข้างแคร่ที่สำคัญในพรรคและในรัฐบาลของเขา นอกจากนี้ รัฐบาลของ เมเจอร์ยังหาทางแก้ปัญหาไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland)* โดยเจรจากับกลุ่มโพรวิชันแนลไออาร์เอ (Provisional Irish Republican Army - IRA) จนนำไปสู่การจัดทำปฏิญญาถนนดาวนิง (Downing St. Declaration) ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งมีการลงนามร่วมกันระหว่างเมเจอร์กับอัลเบิร์ต เรย์โนลส์ (Albert Reynolds) ผู้นำฝ่ายบริหารแห่งไอร์แลนด์เหนือทำให้มีการหยุดยิงใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ในปีต่อ ๆ มา รัฐบาล ของเมเจอร์ก็ยังคงสานต่อนโยบายแก้ไขปัญหาต่อไปซึ่งช่วยปูทางไปสู่การทำความตกลงกู๊ดฟรายเดย์ (Good Friday Agreement) ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างสันติภาพในกรณีไอร์แลนด์เหนือ
     ความเหนื่อยล้ากับปัญหาความแตกร้าวภายในพรรคและการถูกท้าทายตำแหน่งจากสมาชิกพรรคบางกลุ่ม เช่น เหตุการณ์ใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ที่สมาชิกสภาสามัญของพรรคจำนวน ๘ คน ซึ่งมีทัศนะต่อต้านสหภาพยุโรปไม่ยอมทำตามคำสั่งวิปของพรรครัฐบาลและงดออกเสียงในการประชุมสภาสามัญนัดสำคัญ ได้ทำให้เมเจอร์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ เพื่อให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ หากเขาชนะ ฝ่ายต่อต้านก็ควรจะต้องยอมทนอยู่ใต้เขาหรือไม่ก็หยุดวิพากษ์วิจารณ์อย่างเด็ดขาด เมเจอร์เป็นฝ่ายมีชัยต่อจอห์น เรดวูด (John Redwood) รัฐมนตรีดูแลกิจการเวลส์ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านคนสำคัญและเป็นคู่ชิงตำแหน่งตั้งแต่การลงคะแนนเสียงรอบแรกทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นคาดกันว่าคงจะมีการลงคะแนนเสียง ๒ รอบ แม้เขาจะมีชัยชนะ แต่ปัญหาความแตกแยกในหมู่สมาชิกพรรคและในคณะรัฐมนตรีก็ยังไม่จบสิ้นโดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านสหภาพยุโรป เพราะหลังการให้สัตยาบันสนธิสัญญามาสตริกต์เมื่อ ๒ ปีก่อน เมเจอร์เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวโทรทัศน์โดยเข้าใจว่าเป็นการพูดหลังปิดไมโครโฟนแล้ว แต่ภายหลังเทปการสัมภาษณ์ที่เขาเรียกสมาชิกกลุ่มดังกล่าวด้วยคำหยาบคายว่า "bastard" รั่วไหลออกไปจนเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ Daily Mirror หลังการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ พรรคอนุรักษนิยมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้ออกเสียงไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรคได้โดยไม่ต้องมีผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งด้วย [ภายหลังต่อมากฎใหม่นี้ได้ทำให้เอียน ดันแคน สมิท (Ian Duncan Smith) ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับเมเจอร์พ้นจากหัวหน้าพรรค]
     หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงิน ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ แม้พรรคอนุรักษนิยมจะมีชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปแต่ก็เผชิญกับการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาการขอลาออกจากสมาชิกพรรค จนกระทั่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ พรรคอนุรักษนิยมก็สูญเสียเสียงข้างมากในสภาสามัญ ในที่สุดเมเจอร์จำต้องตัดสินใจจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ เพราะใกล้ครบกำหนด ๕ ปี เขาประวิงเวลามาก่อนหน้านี้เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงอาจช่วยคะแนนเสียงของพรรคได้ แต่การเลือกตั้งที่มีขึ้นก็กลายเป็น "การพ่ายแพ้แห่งศตวรรษที่ ๒๐" สำหรับพรรคอนุรักษนิยม และนับเป็นการพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดของพรรคนับตั้งแต่มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ พรรคแรงงานซึ่งมีโทนี แบลร์เป็นหัวหน้าพรรคหาเสียงด้วยนโยบาย "แรงงานใหม่" (New Labour) มีชัยชนะด้วยคะแนน ๔๑๘ เสียง ขณะที่ พรรคอนุรักษนิยมได้ ๑๖๕ เสียง พรรคเสรีประชาธิปไตยได้ ๔๖ เสียง แต่เมเจอร์เองยังคงได้รับเลือกจากเขตฮันทิงดันเชียร์ ขณะที่สมาชิกสภาสามัญเดิมของพรรคอนุรักษนิยมต้องสูญเสียที่นั่งไปถึง ๑๗๙ คน รวมทั้งนอร์มัน ลามอนต์ และโดยเฉพาะไมเคิล พอร์ทิลโย (Michael Portillo) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งในกลุ่มที่เมเจอร์เรียกว่า"bastard"
     ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ เมเจอร์ได้เข้าถวายบังคมลาจากตำแหน่งกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ หลังจากกล่าวประโยคสุดท้ายที่หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อม่านปิดลง ก็ถึงเวลาที่ต้องลงจากเวที แต่เขายังคงทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านช่วงสั้น ๆ จนกระทั่งมีการเลือกวิลเลียม เฮก (William Hague) ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในเดือนต่อมา เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศ เมเจอร์ก็เลือกที่จะไม่ตามรอยแทตเชอร์โดยดำเนินชีวิตอย่างเงียบ ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มีบางครั้งเท่านั้นที่เขาแสดงความเห็นในฐานะสมาชิกสภาสามัญธรรมดา เขารับเป็นประธานสโมสรคริกเก็ตของมณฑลเซอร์เรย์ (President of Surrey County Cricket Club) เพราะโปรดปรานกีฬาชนิดนี้และเมื่อไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (Diana, Princess of Wales) สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุรถยนต์ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน เมเจอร์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อภิบาลพิเศษในเจ้าชายวิลเลียม (William) และเจ้าชายแฮรี (Harry) พระโอรสโดยเฉพาะเกี่ยวกับด้านกฎหมายและการจัดการ แต่เขาปฏิเสธที่จะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางตลอดชีวิตที่มีที่นั่งในสภาขุนนางซึ่งเป็นธรรมเนียมที่มอบให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๒๐๐๑ เมเจอร์ก็ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งอีก และไปดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มบริษัทคาร์ไลในยุโรป (European Chairman of the Carlyle Group) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการด้านการเงินที่เขาอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๘ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ นอกจากนี้ เมเจอร์มีรายได้จากการได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งประมาณกันว่าเขาได้รับเงินราว ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ต่อครั้งโดยมักจะพูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก
     ในช่วงที่เขาดำเนินชีวิตไม่ให้เป็นที่สนใจของสังคมนี้ เมเจอร์กลับเป็นข่าวอีกครั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๒ เมื่อหนังสือพิมพ์รายวัน The Times ตีพิมพ์บันทึกเป็นตอน ๆ ของเอดวีนา เคอร์รี (Edwina Currie) ว่าก่อนที่จะมีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เมเจอร์เคยมีความสัมพันธ์นอกสมรสกับเธอ ๔ ปี ความสัมพันธ์เริ่มขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๘๔ เมื่อเมเจอร์ทำหน้าที่วิป เคอร์รีเป็นเพื่อนสมาชิกในสภาสามัญใน ค.ศ. ๑๙๘๖ เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย แต่ถูกบีบให้ลาออกใน ค.ศ. ๑๙๘๘ เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเชื้อซัลโมเนลลา (salmonella scandal) เพราะเธอกล่าวว่าไข่ไก่ในอังกฤษส่วนใหญ่มีเชื้อนี้อยู่ ผู้คนจึงโกรธเกรี้ยว และยอดขายไข่ไก่ตก ตามบันทึกของเธอความสัมพันธ์กับเมเจอร์สิ้นสุดลงในต้นปีดังกล่าว เพราะเมเจอร์ได้เลื่อนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับเคอร์รีนั้น ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ เธอหย่ากับเรย (Ray) สามีคนแรกซึ่งไม่ทราบเรื่องราวระหว่างเธอกับเมเจอร์และ ๒ ปีต่อมาได้แต่งงานกับจอห์นโจนส์ (John Jones) สามีคนที่ ๒ ซึ่งเป็นอดีตนักสืบ เมื่อปรากฏเป็นข่าว เมเจอร์ยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เขาละอายใจมากและเคยหวาดวิตกว่าจะเป็นข่าวขึ้นมาโดยตลอดในช่วงที่เขามีตำแหน่งทางการเมือง แต่ภรรยาของเขาทราบเรื่องนี้มานานแล้วและยกโทษให้ อย่างไรก็ดี ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเหตุการณ์นี้แสดงการโป้ปดหลอกลวงของเมเจอร์ซึ่งเคยเปิดการรณรงค์ของพรรคใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ด้วยคำขวัญที่ว่ากลับสู่หลักการขั้นพื้นฐาน (Back to Basics) ซึ่งเมเจอร์หมายถึงด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การรักษาความสงบเรียบร้อย และอื่น ๆ แต่หลายคนรวมทั้งรัฐมนตรีของพรรคเองตีความว่าเกี่ยวข้องกับการให้ความสำคัญเรื่องครอบครัวและศีลธรรมส่วนบุคคล และเป็นคำขวัญที่ย้อนกลับไปทำร้ายพรรคเองด้วย เพราะในปีต่อมาสื่อมวลชนอังกฤษได้เปิดโปงความสกปรกต่าง ๆ ในพรรคอนุรักษนิยม เช่น การลาออกจากตำแหน่งของสมาชิกคนสำคัญ ๆ อย่างทิม เยา (Tim Yeo) ซึ่งเคยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเมเจอร์ในเรื่องครอบครัวและ ศีลธรรม เมื่อเขาออกมายอมรับว่ามีลูกนอกสมรส การกล่าวหาทิม สมิท (Tim Smith) และนีล แฮมิลตัน (Neil Hamilton) ว่ามีการรับเงินจากโมฮัมเม็ด อัลไฟเอ็ด (Mohammed al-Fayed) นักธุรกิจเจ้าของห้างแฮรอดเพื่อตั้งกระทู้ในสภาจนทั้งสองต้องลาออก และการเสียชีวิตอย่างน่าอับอายของสตีเฟน มิลิแกน (Stephen Miligan) ขณะหาความสำราญทางเพศ กรณีต่าง ๆ นี้มีส่วนทำให้ชาวอังกฤษสูญเสียศรัทธาในพรรคและเทคะแนนให้แก่พรรคแรงงานใน ค.ศ. ๑๙๙๗
     ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๕ ขณะอายุ ๖๒ ปีเมเจอร์ซึ่งชาวอังกฤษและนักการเมืองหลายคนเห็นว่าเป็นคนจืดชืด ไม่มีสีสัน และบ้างก็ว่าไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ เรื่องจนเรียกกันว่า "grey man" ได้รับสถาปนาเป็นอัศวินแห่งการ์เตอร์ (Knight of the Garter) พร้อมกับเลดีโซม (Lady Soames) วัย ๘๒ ปี บุตรสาวของเซอร์วินสตันเชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* โดยมีการประกอบพิธีที่ปราสาทวินด์เซอร์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้จัดทำขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๓ (Edward III ค.ศ. ๑๓๒๗-๑๓๗๗)* มีเพียง ๒๕ สำรับเท่านั้นพระมหากษัตริย์จะทรงเลือกผู้ได้รับเองโดยไม่ต้องมี รัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ในรัชกาลปัจจุบันนอกจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบทที่ ๒ แล้ว ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อีก ๒๔ คนมีทั้งบุคคลสำคัญที่ เป็นชาวอังกฤษและชาวต่างชาติ สามัญชนที่ได้รับเลือกเรียกว่า "Knight" หรือ "Lady Company" อดีตนายกรัฐมนตรี ๒ คนที่มีชีวิตอยู่ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์ก่อนเมเจอร์คือ แทตเชอร์และเซอร์เอดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath)* เมเจอร์มีโอกาสได้รับพระราชทานก็เพราะลอร์ดเจมส์ คัลลาแฮน (James Cullaghan)* อดีตนายกรัฐมนตรีถึงแก่อสัญกรรม ส่วนนอร์มา ภรรยาของเมเจอร์นั้นใช้คำนำหน้านามว่า เดม (Dame) หรือเรียกว่าเลดีเมเจอร์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๙ แล้วจากผลงานของเธอเองทางด้านสาธารณกุศลที่เกี่ยวกับผู้มีปัญหาสุขภาพทางจิต.



คำตั้ง
Major, John
คำเทียบ
เซอร์ จอห์น เมเจอร์
คำสำคัญ
- เรดวูด, จอห์น
- เรย์โนลส์, อัลเบิร์ต
- ปฏิญญาถนนดาวนิง
- คลาร์ก, เคนเนท
- แฮมิลตัน, นีล
- ฮีท, เซอร์เอดเวิร์ด
- ไอร์แลนด์เหนือ
- เอดเวิร์ดที่ ๓, พระเจ้า
- เยา, ทิม
- โมฮัมเม็ด อัลไฟเอ็ด
- อัศวินแห่งการ์เตอร์
- สมิท, ทิม
- คัลลาแฮน, เจมส์
- มิลิแกน, สตีเฟน
- วิลเลียม, เจ้าชาย
- เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเชื้อซัลโมเนลลา
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เฮก, วิลเลียม
- ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่
- พอร์ทิลโย, ไมเคิล
- นโยบายแรงงานใหม่
- ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์
- แทตเชอร์, มาร์กาเร็ต
- โจนส์, จอห์น
- เคอร์รี, เอดวีนา
- เซอร์เรย์, มณฑล
- คีรันส์, จีน
- เมอร์ทัน, เขต
- เซลดัน, แอนโทนี
- เมเจอร์, จอห์น รอย
- พรรคอนุรักษนิยม
- บรองซ์ใต้, เขต
- พรรคแรงงาน
- บอลล์, เอบราแฮม ทอมัส
- เมเจอร์, เซอร์จอห์น
- บอลล์, เทอร์รี เมเจอร์
- จอห์นสัน, นอร์มา เอลิซาเบท
- เซนต์พังครัสนอร์ท, เขต
- ฮันทิงดัน, เขต
- ประชาคมยุโรป
- สโตน, ดีเรก
- คินน็อก, นีล
- สมาชิกสภาแถวหลัง
- ฮันทิงดันเชียร์, เขต
- ลอว์สัน, นีเกล
- พระราชบัญญัติการออมทรัพย์พิเศษที่ยกเว้นภาษีหรือเทสซา
- สหภาพเศรษฐกิจและการเงิน
- ฮาว, เซอร์เจฟฟรีย์
- เคิร์ด, ชาว
- กลไกอัตราแลกเปลี่ยนหรืออีอาร์เอ็ม
- บุช, จอร์จ
- นโยบายการเก็บภาษีรายหัว
- วันพุธสีดำ
- เอลิซาเบทที่ ๒, สมเด็จพระราชินีนาถ
- ระบบการเงินยุโรป
- สงครามอ่าวเปอร์เซีย
- แบลร์, โทนี
- เฮเซิลไทน์, ไมเคิล
- ฮุสเซน, ซัดดาม
- กลุ่มโพรวิชันแนลไออาร์เอ
- กลุ่มยูโรสเคปติก
- เฮิร์ด, ดักลาส
- ลามอนต์, นอร์มัน
- ความตกลงกู๊ดฟรายเดย์
- สนธิสัญญามาสตริกต์
- สมิท, เอียน ดันแคน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1943-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๘๕-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 4.M 269-394.pdf